ใครสร้าง ใครใช้ชลาคาร
จากการศึกษาพบว่า ชลาคารแบบสระและแบบอุโมงค์มักมีที่ตั้งและผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง รวมทั้งผู้ดูแลที่แตกต่างกัน
ชลาคารแบบสระมักตั้งอยู่ในบริเวณวัดหรือเทวสถาน ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นจากเงินบูชาศาสนาที่ชาวบ้านถวาย โดยทางวัดหรือเทวสถานเป็นผู้จัดการก่อสร้างและดูแลการใช้น้ำ ที่สำคัญก็คือ ชลาคารแบบสระที่ถูกออกแบบให้ ๓ หรือ ๔ ด้านของอาคารเป็นขั้นบันไดน้อยใหญ่ดิ่งตรงลงสระได้ทันที ก็สะท้อนภารกิจหรือหน้าที่ของสิ่งก่อสร้างซึ่งต้องเปิดรับต่อผู้คนจำนวนมากในคราวเดียวกัน
และต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมหาศาลเหล่านี้สามารถเข้าถึงบ่อน้ำตรงกลางได้พร้อมกันหรือในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น ในงานเทศกาลหรือพิธีกรรมมหาชนต่างๆ
สำหรับชลาคารแบบอุโมงค์ซึ่งผู้ใช้ต้องเดินจากปลายด้านตื้นก่อนค่อยๆ ลดระดับลงสู่บ่อน้ำที่อยู่ลึกสุดอีกหลายชั้นนั้น มักพบจารึกหรือหลักฐานที่ระบุว่า “บุคคลชั้นสูง” เป็นผู้บริจาคเงินก่อสร้างและอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติเพื่อทำบุญบูชาเทพเจ้า โดยยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าบุคคลชั้นสูงผู้สร้างถวายเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นสตรี จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่หญิงผู้มีโอกาสมักทำบุญด้วยการอุทิศชลาคาร (แบบอุโมงค์) ให้เป็นสาธารณประโยชน์ อาจมีที่มาจากความเข้าใจภารกิจหน้าที่ของสตรีชาวชมพูทวีปโดยทั่วไป
(แม้ในปัจจุบัน) ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับน้ำในชีวิตประจำวันมากกว่าชาย เช่น เป็นผู้ดูแลความสะอาด ซัก ล้าง ประกอบอาหาร เสาะหาและเก็บรักษาน้ำไว้ให้สมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
ในด้านวิศวกรรม ชลาคารได้รับการออกแบบให้รับมือกับสภาวะน้ำต่างฤดูได้อย่างน่าทึ่ง ในอดีต แม้ต้องประสบภาวะระดับน้ำลดลงอย่างมากในหน้าแล้ง แต่น้ำในชลาคารก็ยากจะเหือดแห้งหมดไปเพราะมีการจัดวางระบบให้น้ำใต้ดินซึมเข้าสู่บ่อได้ตลอดเวลา โดยฤดูแล้งนี้กลับเป็นช่วงที่ชลาคารจะเผยความงามของโครงสร้างสถาปัตยกรรม ลวดลายประดับและรูปจำหลักจำนวนมากให้ผู้คนได้พบเห็นอย่างเต็มตา ครั้นเมื่อหน้ามรสุมมาเยือน น้ำฝนก็จะเติมบ่อลึกในชลาคารให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไล่ท่วมชั้นอาคารด้านล่างมิดไปทีละชั้นๆ คงเหลือไว้เพียงชั้นบนที่ผลุบๆ โผล่ๆ ให้ดูแปลกตา
แต่ก็มักไม่ปรากฏว่าน้ำที่เพิ่มขึ้นจะเอ่อล้นท่วมเลยออกจากขอบบนของชลาคารที่วางอยู่บนพื้นดิน เนื่องด้วยผู้ก่อสร้างในอดีตได้คำนวณสัดส่วนของปริมาณน้ำกับขนาดความจุของอาคารได้อย่างเหมาะสม
“รานี คี วาว” ชลาคารขนาดมหึมาที่ดูเหมือนเมืองใต้พิภพ ปล่องที่เห็นไกลสุดคือตำแหน่งบ่อน้ำลึกด้านตะวันตก
(ภาพจาก https://en.wikipedia.org)
ชลาคาร จากอดีตสู่ปัจจุบัน
เมื่อพื้นที่ต่างๆ ของอินเดียทยอยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทัศนะต่อชลาคารก็เริ่มเปลี่ยนไป เจ้าอาณานิคมอังกฤษมีมาตรฐานสุขอนามัยแบบของตน และเห็นว่าชลาคารซึ่งผู้คนหลายพ่อพันแม่ใช้สมาคมกันในโอกาสต่างๆ เป็นพื้นที่เสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคหรือกระทั่งโรคติดต่อ จึงได้สั่งปิดชลาคาร ส่งผลให้ชลาคารที่เคยรับใช้ชนพื้นถิ่นมาหลายร้อยปีหมดบทบาททางสังคมและถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการบริหารจัดการดูแล น้ำที่เคยถูกใช้สอยตามมาตรฐานคุณภาพของชุมชนก็กลายเป็นน้ำนิ่งและเน่าหรือตื้นลงด้วยตะกอนและวัชพืช เมื่อชลาคารขาดการรักษาปกป้อง หลายแห่งได้ถูกรุกล้ำโดยผู้คนหรือกลายสภาพเป็นแหล่งน้ำของวัว แพะ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ซึ่งซ้ำเติมให้คุณภาพน้ำวิบัติและเป็นภัยต่อสุขอนามัย เข้าทางวิธีการมองของเจ้าอาณานิคมไปในที่สุด
แม้ภายหลังจากที่อินเดียได้กลายเป็นประเทศเอกราชแล้ว สภาพการรุกล้ำชลาคารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถอนตัวออกไปตามเจ้าอาณานิคม ในปัจจุบัน เมื่อประชากรและเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชลาคารบางแห่งที่ยังคงสามารถเก็บน้ำไว้ได้ตามวัฏจักรธรรมชาติได้กลายสภาพเป็นบ่อน้ำของชุมชนแออัดรอบๆ ที่เอาแต่ใช้สอย ซักล้าง อาบ และเล่น โดยไม่มีผู้ใดคิดจะร่วมรักษาคุณภาพน้ำ หลายแห่งที่ตื้นเขินหรือแห้งเหือดลงได้กลายเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นล่างในเมือง หรือถูกซอยบางส่วนแปลงเป็นศาลสถิตของเทพเจ้าหลายร้อยที่มา โดยมีผู้ทำหน้าที่ตัวกลางทางจิตวิญญาณรายย่อยๆ ร่วมอาศัยอยู่ด้วยอย่างยั้วเยี้ย
ทำให้สิ้นสุดลง ไม่เพียงแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของชลาคารจะสูญหายไปด้วยเท่านั้น แต่การดูแลรักษาด้วยความเคารพไม่ว่าจะโดยธรรมเนียมประเพณีหรือโดยความตระหนักในคุณประโยชน์อย่างแท้จริงก็พลอยปราสนาการตามไปด้วย ชลาคารนับร้อยนับพันแห่งในทุกวันนี้จึงตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง ความหวังที่มีคงได้แก่ ชลาคารที่กลับมาเป็นที่รู้จักจะช่วยสร้างสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารมหัศจรรย์แห่งอดีตประเภทนี้ ให้กลับมารับใช้สังคมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าในรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่ได้ต่อไป
เมื่อได้รู้จัก “ชลาคาร” วิหารใต้พิภพอินเดีย ในภาพกว้างจัดเต็มแล้ว ผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมประวัติของชลาคารสำคัญๆ ได้อีกในบทความเรื่องนี้ของคุณวิชชุ เวชชาชีวะ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๙