ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผลวิจัยใหม่ชี้ช่องโหว่ชั้นโอโซนที่ขั้วโลกใต้เริ่มหดเล็กลง


ศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติสหรัฐ 
(เอ็นเอสไอดีซี) เปิดเผยว่า พื้นที่ของแผ่นน้ำแข็งที่มหาสมุทรอาร์กติกหรือที่ขั้วโลกเหนือ
เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา มีขนาดหดเหลือ 4.14 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับเดือนเดียวกันของปี 2551 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเป็นอันดับสองนับจากที่เคยมีการวัดด้วยดาวเทียม 

ยิ่งกว่านั้นความเร็วของการหดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่พื้นที่ของแผ่นน้ำแข็งอาร์กติกลดต่ำที่สุดอีกด้วย

ปกติแผ่นน้ำแข็งที่อาร์กติกจะแผ่ขยายและหดลงตามฤดูกาล โดยจะแผ่กว้างที่สุดในฤดูหนาวและหดเล็กที่สุดในฤดูร้อน โดยจะต่ำสุดในเดือนกันยายนของทุกปี จากสถิติที่บันทึกไว้โดยเอ็นเอสไอดีซีพบว่า ระดับต่ำสุดเฉลี่ยช่วงปี 2522-2543 อยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ของแผ่นน้ำแข็งอาร์กติกในช่วงต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 4-5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยในปี 2555 พื้นที่แผ่นน้ำแข็งหดลงเหลือเพียง 3.39 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น

เรื่องสิ่งแวดล้อมใช่ว่าจะมีแต่ข่าวร้ายเสมอไป บางครั้งเรื่องดี ๆ ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน เช่น ข่าวจากอีกขั้วหนึ่งของโลก นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ารูโหว่ของชั้นโอโซนที่ทวีปแอนตาร์กติกาเริ่มหดเล็กลงแล้ว

ชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกมีบทบาทสำคัญในการดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตที่อันตรายจากดวงอาทิตย์ แต่ในปี 2528 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าชั้นโอโซนนี้มีรูโหว่ขนาดมหึมาขึ้นที่ขั้วโลกใต้ และรูโหว่นี้ก็ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นทุกปี นั่นเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทั้งโลก สาเหตุสำคัญของการเกิดรูโหว่คือการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือซีเอฟซีอย่างแพร่หลาย

การที่รูโหว่ของชั้นโอโซนเริ่มเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นในช่วงหลังนี้เชื่อว่าเป็นผลจากการห้ามใช้สารซีเอฟซีอย่างเข้มงวดที่ดำเนินมาหลายปี ดังจะเห็นว่ารูโหว่ในปี 2557 มีขนาดเล็กลงกว่าในปี 2543 ถึง 10 ล้านตารางกิโลเมตร
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป รูโหว่ของชั้นโอโซนนี้จะปิดได้สนิทก่อน พ.ศ. 2603

รายการบล็อกของฉัน