นักธรณีวิทยาชี้เคยมีแผ่นดินเชื่อมเกาะอังกฤษกับยุโรปในยุคน้ำแข็งมาก่อน
นักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เผยถึงสาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "เบร็กซิท" ยุคดึกดำบรรพ์ โดยค้นพบว่าแผ่นดินที่เคยเชื่อมต่อเกาะอังกฤษกับทวีปยุโรปนั้นพังทลายลงจากการถูกน้ำท่วมกัดเซาะเมื่อหลายแสนปีก่อน ทำให้เกาะอังกฤษแยกตัวออกจากภาคพื้นยุโรปในทางภูมิศาสตร์อย่างสมบูรณ์
มีการเผยแพร่ผลการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่าการศึกษาสภาพภูมิประเทศก้นทะเลบริเวณช่องแคบโดเวอร์ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของช่องแคบอังกฤษ และกั้นกลางระหว่างเมืองโดเวอร์ของสหราชอาณาจักรกับเมืองคาเลส์ของฝรั่งเศส ทำให้พบว่ามีร่องรอยทางธรณีวิทยาจำนวนมากที่ชี้ว่า เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่และรุนแรงซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อราว 450,000 ปีก่อน ทำให้ผืนดินส่วนที่เคยเชื่อมต่อเกาะอังกฤษและทวีปยุโรปถูกทำลายลง
ศาสตราจารย์ สัญชีพ คุปตะ ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า เหตุการณ์ทางธรณีวิทยาดังกล่าว จัดว่ามีความสำคัญอย่างสูงต่อประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาข้อสังเกตในการสำรวจสภาพภูมิประเทศใต้ทะเลจากวิศวกรผู้ขุดเจาะอุโมงค์ลอดช่องแคบอังกฤษเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งวิศวกรพบว่ามีหลุมโพรงใต้น้ำจำนวนมากเรียงตัวเป็นแนวยาวจากเมืองโดเวอร์ไปจนถึงเมืองคาเลส์ โดยหลุมเหล่านี้มีขนาดใหญ่และลึกกว่า 100 เมตร หลายหลุมมีความกว้างตั้งแต่หลายร้อยเมตรไปจนถึงหลายกิโลเมตร
การศึกษาสภาพภูมิประเทศใต้ทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษ นำไปสู่การค้นพบปรากฎการณ์ "เบร็กซิท" ทางธรณีวิทยาในยุคโบราณ
เมื่อศึกษาโครงสร้างของหลุมเหล่านี้อย่างละเอียดขึ้น ทีมวิจัยพบว่าหลุมดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับหลุมที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำตก ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบริเวณดังกล่าวได้ค่อย ๆ กัดเซาะทำลายแนวแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับทวีปยุโรปเป็นเวลาหลายแสนปี ก่อนที่น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อราว 150,000 ปีก่อนจะทำลายแนวแผ่นดินที่เชื่อมต่อไปทั้งหมดและทำให้เกิดช่องแคบโดเวอร์ขึ้น
ส่วนสาเหตุของน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ อาจเกิดจากการไหลล้นของน้ำในทะเลสาบธารน้ำแข็ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงขอบแผ่นน้ำแข็งใหญ่ที่ปกคลุมยุโรปอยู่ในเวลานั้น
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังคาดว่าเหตุแผ่นดินไหวซึ่งยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำในบริเวณดังกล่าว มีส่วนเร่งให้แผ่นดินที่เชื่อมต่อกับทวีปยุโรปซึ่งเป็นหินปูนชอล์กที่เปราะบางพังทลายเร็วขึ้น